ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เงินเฟ้อสูงขึ้น ลดการจ้างแรงงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เงินเฟ้อสูงขึ้น ลดการจ้างแรงงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ และมีผลบังคับใช้จริงในเดือนต.ค.2567 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังการจ้างงาน การลงทุน รวมถึงส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอาจมีไม่มากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแล้ว หากค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

โดยประเมินภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6% (คำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด) ธุรกิจที่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนสูง เช่น ภาคเกษตร งานในครัวเรือนส่วนบุคคลและที่พัก และบริการด้านอาหารจะได้รับผลกระทบสูงกว่าธุรกิจอื่น

ทั้งนี้ หากแยกตามธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่นๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 8-14% ซึ่งสูงกว่าภาคธุรกิจเฉลี่ย ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับค่าจ้างแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว บางธุรกิจอาจมีต้นทุนแรงงานในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม ซึ่งคงขึ้นอยู่กับโครงสร้างการจ่ายค่าจ้างของแต่ละธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ด้านผลกระทบต่อเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จากต้นทุนของผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคนั้นคงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและการแข่งขันของตลาดเป็นสำคัญ ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้นคงส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้เต็มที่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือน ต.ค.2567 อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในภาพรวมปี 2567 ที่ราว 0.1% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นคงจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงอยู่แต่เดิม

โดยสรุป แม้การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีความเสี่ยงจากราคาสินค้าและบริการที่จะเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงการถูกเลิกจ้างงานในบางกิจการ โดยก่อนหน้านี้มีสินค้าและบริการบางรายการปรับไปรอค่าจ้างที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาครัฐไม่ได้มีมาตรการคู่ขนานในการควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการร่วมด้วย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และอาจต้องเผชิญความเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจมีการหันไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หรือบางกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจแบกรับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ไหวจนต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป โดยการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ (ไตรภาคี) ซึ่งล่าสุด (14 พ.ค.67) มีมติมอบคณะอนุกรรมการจังหวัดแต่ละพื้นที่เสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัดและกิจการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2567 นี้

Comment

แนะนำสำหรับคุณ