กระทรวงแรงงาน ผลักดันกฎหมายโอที รปภ. ให้ได้เงินค่าล่วงเวลา

กระทรวงแรงงาน ผลักดันกฎหมายโอที รปภ. ให้ได้เงินค่าล่วงเวลา

“พิพัฒน์” ดันกฎหมายโอที รปภ. จ่ายค่าจ้างล่วงเวลาวันธรรมดา-วันหยุด สร้างความเป็นธรรม ยกระดับอาชีพลูกจ้าง

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.รง. ผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือในภาษากฎหมายเรียกว่าลูกจ้างที่ทำงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าตอบแทนสำหรับการทำงานที่เกินกว่าวันละ 8 ชม. ในอัตราที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชม.ในวันทำงานปกติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาสำหรับลูกจ้างรายเดือน หรือค่าตอบแทนสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่า 1.25 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ

ส่วนในวันหยุด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 2.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ สรุปก็คือลูกจ้าง รปภ. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ส่วน ทั้งเงินเดือนหรือค่าจ้าง กับค่าโอทีหรือค่าตอบแทนจากการทำงานเกินเวลาปกติ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้

ในประเทศไทยมีลูกจ้าง รปภ.ประมาณ 4 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างเหล่านี้ไม่มีสิทธิได้รับโอที ตามกฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ.2552 ขณะที่ลูกจ้างบางส่วนได้เสนอให้ทบทวนกฎหมายเพราะบังคับใช้มากว่า 15 ปีแล้ว

กฎหมายโอที รปภ.

นอกจากนี้ งาน รปภ. เป็นงานที่ต้องใช้กำลังแรงกาย มีระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานส่งผลต่อสุขภาพของลูกจ้าง เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและความรับผิดชอบมากขึ้น

กระทรวงแรงงาน เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายโอที รปภ.

นายพิพัฒน์ จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งผลักดันการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว และได้รับฟังความคิดเห็นของทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาสังคมแล้ว เพื่อขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับค่าล่วงเวลาทั้งในวันทำงานปกติและวันหยุดอย่างเหมาะสม และยังเป็นการยกระดับทางอาชีพอีกด้วย

ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเรียกว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าล่วงเวลาและค่าตอบแทนการทำงานที่เกินกว่าวันละแปดชั่วโมง ในงานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง พ.ศ. …

จากนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และผ่านขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมายแล้วก็จะประกาศใช้ต่อไป โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้าง รปภ. และครอบครัวอย่างแน่นอน

Comment

แนะนำสำหรับคุณ