สปสช. เปิดผลประเมิน “30 บาท รักษาทุกที่” 2 เฟสแรก พื้นที่นำร่อง 12 จังหวัด พบหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ ช่วยลดแออัดใน รพ.ได้ 25% ประชาชนรับบริการเกือบ 5 แสนครั้ง
วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 นพ.ปฏิภาคย์ นมะหุต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กลุ่มภารกิจกำกับติดตามประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการประเมินผลโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวว่า ขณะนี้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้ดำเนินการแล้วใน 2 ระยะ รวม 12 จังหวัด
โดยพบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพไปแล้ว 1.6 ล้านคน รวมบริการทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เกือบ 25% หรือ 5.8 แสนครั้ง เป็นการใช้บริการจากหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ ทั้ง 7 ประเภท ที่ให้บริการโดยภาคเอกชน ประกอบด้วยคลินิกเวชกรรม ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ตรวจแล็บ) คลินิกกายภาพบำบัดและคลินิกการแพทย์แผนไทย รวมถึงบริการโทรเวชกรรมหรือเทเลเมดิซีน
30 บาท รักษาทุกที่ ผลตอบรับดีมาก
“ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และเข้าใจเกี่ยวกับการไปรับบริการ จึงทำให้ระบบเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างดี และทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ผู้ป่วยเลือกไปรับบริการจากหน่วยบริการเหล่านี้มากกว่าไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาพที่ สปสช. ต้องการให้เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กล่าว
นพ.ปฏิภาคย์ กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ที่สะท้อนความสำเร็จเบื้องต้น พบว่าประชาชนลดการเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ในบางพื้นที่ก็มีเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มาก และไม่ได้เป็นภาระต่อโรงพยาบาล แม้แต่การให้บริการข้ามเครือข่ายหรือข้ามพื้นที่กันก็ยังพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น
ตรงนี้สะท้อนว่าหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เป็นทางเลือกแรกของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่จังหวัดที่ดำเนินการโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบ รวมทั้งหมดจำนวน 1,326 แห่ง และยังมีที่อยู่ระหว่างการทยอยเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพิ่มเติม
“สาเหตุที่ทำให้มีหน่วยบริการภาคเอกชน 7 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นคลินิกเวชกรรม ร้านยา คลินิกการพยาบาล คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกการแพทย์แผนไทย เข้าร่วมโครงการมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นผลจากการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการในโครงการที่มีความคุ้มค่า รวมถึงกระบวนการเบิกจ่ายที่ทำได้รวดเร็วภายในระยะเวลา 3 วัน ตามที่ได้ประกาศไว้” นพ.ปฏิภาคย์ กล่าว
นพ.ปฏิภาคย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการร้องเรียนตั้งแต่เปิดให้บริการโครงการฯ นั้น พบว่ามีเพียง 5 รายเท่านั้น เป็นกรณีที่ไม่ได้รับบริการตามสิทธิ 1 ราย ไม่ได้รับความสะดวก 3 ราย และถูกเรียกเก็บเงินอีก 1 ราย ซึ่งจากข้อร้องเรียนเหล่านี้ สปสช. มีทีมเข้าไปบริหารจัดการร่วมกับหน่วยบริการทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการทำความเข้าใจต่อนโยบาย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำซ้อน และให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ดำเนินมาถึงระยะที่ 3 แล้ว โดยครอบคลุมแล้ว 45 จังหวัด 16 เขตสุขภาพ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา
ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เมื่อมีอาการเจ็บป่วย นอกจากเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิของท่านหรือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิได้ทุกแห่งแล้ว ยังเข้ารักษาได้ที่หน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไปนี้ได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่จังหวัดไหน ก็ไปใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียว
ใช้บริการได้ทั่วประเทศ ดังนี้
- ร้านยา
- คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น
- คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น
- คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น
ใช้บริการได้เฉพาะจังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ดังนี้
- คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น
- คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น
- คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
สำหรับการตรวจสอบหน่วยบริการ ที่ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ของ สปสช. สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-all-provinces และเลือกประเภทหน่วยบริการเอกชนที่ต้องการตรวจสอบ