ส่องโมเดล วิถีแก้จนคนเพชรบุรี อีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่เกิดจากแนวคิดว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพดี” ที่จะช่วยให้ทุกคนลุกขึ้นมา “ปรับเปลี่ยน” พฤติกรรมตนเอง แก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน
คำโบราณมีกล่าวไว้ว่า การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ แต่ยุคนี้ นอกจากไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ควบคู่กันไปยังต้องไม่มี “หนี้” คือลาภอันประเสริฐอีกด้วย หนี้คือหนึ่งในปัจจัยที่เป็นกับดักแห่งความยากจน ซึ่งทำให้คนไทยไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ ประชาชนคนส่วนใหญ่มักตกอยู่ในวังวนความจน ด้วยต้องเผชิญปัญหาหนี้สินสูงกว่ารายได้ไม่มีที่สิ้นสุด หากวิเคราะห์รากเหง้าปัญหาจากตนเอง เชื่อว่าหลายคนแทบไม่เคยคิดถามคำถามนี้กับตัวเองเลยว่า “เงินตนเองหายไปไหนบ้าง กระจายไปอยู่ที่ใดบ้าง”
ที่ผ่านมา การอยู่กับความจนมานาน อาจทำให้ชินชา และเลือกแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน แต่หากอยากหนีพ้นปัญหาหนี้สินยั่งยืน วันนี้มีหนึ่งโมเดลคาถาปลดหนี้ สร้างสุขภาวะดี ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วย “ลดรายจ่าย ลดหนี้ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ปลอดความยากจน เพิ่มความสุข” หากแต่ก้าวแรกต้องเริ่มที่ทุกคนร่วมใจลุกขึ้นมา “ปรับเปลี่ยน” พฤติกรรมตนเองก่อน เหมือนกับคนที่เพชรบุรี
วิถีแก้จนคนเพชรบุรี แก้หนี้ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ
เมื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องพัฒนากลไกให้เกิดเป็นระบบ ภาครัฐจึงเริ่มให้ความสนใจที่จะช่วยพี่น้องชาวไทยกับการร่วมพัฒนาโมเดลการแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ที่ อบต.หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 นำทีมลงพื้นที่ติดตามและรับฟังการดำเนินงาน “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเพชรบุรี” อีกหนึ่งพื้นที่ต้นแบบที่เกิดจากแนวคิดว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ”
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยปี 2566 สูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยมีสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากเนื่องจากมีสัดส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้สูงถึง 34% และ 41% ที่สำคัญรายจ่ายส่วนหนึ่งคือค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ซึ่งนอกจากเสียสุขภาพ ยังทำให้เหลือเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นน้อยลง ก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยยังพบว่าในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสูงกว่าครอบครัวรายได้สูงถึง 6 เท่า และใช้เงิน 21.5% ของรายได้ไปกับการสูบบุหรี่ หากเลิกบุหรี่วันละ 1 ซอง ซึ่งหากนำมาคำนวณเป็นจำนวน 1 ปี จะมีเก็บหลายหมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้สินจากการพนันที่พบว่า มีผู้ติดหนี้พนันถึง 1.6 ล้านคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน จากปี 2564 คิดเป็นมูลค่าหนี้สินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และเร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหา
“หลายครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้ต้องพัฒนากลไกให้เกิดเป็นระบบ ลดรายจ่ายจากปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสุขภาพ และทำให้เกิดแผนเศรษฐกิจชุมชน อาทิ สร้างอาชีพ เชื่อมโยงองค์กร/สถาบันการเงิน ส่งเสริมการผลิต และใช้เอง รวมถึงแผนปลดหนี้ พัฒนาอาชีพเสริมรายได้ พัฒนาผู้ประกอบการอินทรีย์ตลาดสีเขียว ให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมั่นว่าเป้าหมายขยายโมเดลการทำงานของ สสส. สามารถไปสู่การสร้างชุมชนปลอดความยากจน ที่จะนำร่องระดับตำบล/ชุมชน ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ชุมชน สังคม นอกจากเกิดผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย” สมศักดิ์ กล่าว
ปลอดจน ต้องปลดหนี้ เสริมสุขภาพดี
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า มาตรการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุน สสส. มีมติให้ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) พัฒนาแนวทางจัดการหนี้ครัวเรือน โดยตั้งต้นจากการลดค่าใช้จ่ายบั่นทอนสุขภาพ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ การพนัน เพื่อแก้ไขปัญหา และลดสัดส่วนหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อาทิ ขับเคลื่อนงานระดับตำบล/ชุมชน 626 พื้นที่ โครงการคนหัวใจเพชร ลดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา นำไปสู่การงดเหล้าตลอดชีวิต เฉพาะปี 2565 มีผู้เข้าร่วม ทั่วประเทศ 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท ลดการพนัน เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมในโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 150 โรงเรียน
เบญจมาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดรายจ่าย สสส. และภาคีเครือข่ายได้สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง พัฒนาแผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนปลดหนี้ครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยสวนผักชุมชน ลดรายจ่าย สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้ครอบครัว และชุมชนสวนผักชุมชน ไม่เพียงสร้างรายได้ ยังสร้างสุขภาพ
“สสส. ทำเรื่องเลิกเหล้าบุหรี่ อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย และยังมีการสร้างรายได้ที่ทำผ่านกลไกชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรลอตเตอรี่ศึกษา ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบนิเวศของการแก้ปัญหาโดยรวม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ การเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม อยู่ที่หลักการเดียวกันหมดเลยคือเราอยากให้เกิดความสมดุล ลดปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเราได้ทดลองทำจริง ที่สสส. จะเดินต่อไปคือทำงานกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และอปท. ที่ร่วมกันทำไปแล้ว 626 กว่าครัวเรือน น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นกระบวนการในแต่ละเรื่องสำหรับการเป็นต้นแบบ” เบญจมาภรณ์ กล่าว
คนสู้เหล้า ก้าวแรกปลดหนี้
เหล้าคือ อีกหนึ่งต้นตอปัญหาสำคัญของสังคมไทย ไม่เพียงคนไทยหมดค่าใช้จ่ายไปกับเหล้าจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ไม่นับถึงปัญหาอุบัติเหตุอันเนื่องจากการดื่มเหล้า
ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สะท้อนให้เห็นภาพรวมว่า การทำงานณรงค์ต้องเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกทุกคนในชุมชน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้ผ่านกติกาชุมชน สร้างวัฒนธรรมปลอดเหล้า ซึ่งสสส. มีการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วไทยขับเคลื่อนแก้ปัญหาผ่านกลไกคนหัวใจหิน หัวใจเพชร ในทั่วประเทศ
สำหรับเครือข่ายประชาคมงดเหล้า จังหวัดเพชรบุรี และแกนนำชุมชนคนสู้เหล้า จำนวน 15 ชุมชน เน้นงานชวน ช่วย ชม เชียร์ คนเลิกเหล้า และออมเงิน ฟื้นฟูผู้ติดสุรา ส่งเสริมให้ลดรายจ่ายสร้างรายได้ รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา งดเหล้าในงานบุญ งานศพ และงดเหล้าตลอดทั้งปี ซึ่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือ สามารถลดรายจ่ายการจัดงานจาก 63,000 บาท หลังเข้าร่วมโครงการเหลือ 13,500 บาท เหลือเงินออมได้ถึง 49,500 บาท นอกจากนี้ไม่เพียงเชิญชวนให้เลิกสุราอย่างเดียว ยังส่งเสริมการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูเศรษฐกิจคนในชุมชน ยังได้จัดตั้งกองทุนเจ้าภาพ และสวัสดิการ สนับสนุนเจ้าภาพงานเลี้ยงปลอดเหล้าจากกองทุนชุมชน เจ้าภาพละ 1,000 บาท และสนับสนุนทุนตั้งต้นเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมงดเหล้า กองทุนละ 4,000-5,000 บาท
เปลี่ยนหวยเป็นเงินออม คืนความมั่งคั่งสู่ครัวเรือน
การพนันคือ อีกหนึ่งปัญหาหนี้สินในทุกครัวเรือน โดยเฉพาะการเล่น “หวย” เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนมองข้าม เพราะมักคิดว่าการเล่นหวยไม่ใช่การพนันที่มีพิษภัย แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วคนไทยเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหวยไปถึงปีละกว่าแสนล้านบาท
ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า มีข้อมูลการสำรวจจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 25 ล้านคนที่ซื้อหวยเป็นประจำ เฉลี่ย 19-20 งวดต่อปี บางคนซื้อทั้งใต้ดินและหวยบนดิน เล่นเพื่อกระจายความเสี่ยง สำหรับจำนวนเงินที่คนไทยหมดไปกับหวยต่อปี ศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทยเคยสรุปตัวเลขไว้ว่ามีประมาณสองแสนห้าหมื่นล้านบาทต่อปี
ธนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การพนันเป็นปัญหาต่อหนี้สินครัวเรือน จึงต้องสร้างความตระหนักพิษภัยของพนัน ซึ่งทางมูลนิธิได้ขับเคลื่อนรณรงค์ผ่าน 2 หลักสูตร ได้แก่ ลอตเตอรี่ศึกษา สร้างการเรียนรู้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 150 โรงเรียนผู้สูงอายุ และหลักสูตรพี่เลี้ยงการเงินรู้ทันการพนัน ทดลองทำในพื้นที่ 10 จังหวัด เปลี่ยนเงินหวย เป็นเงินออม ชักชวนให้ครอบครัวในท้องที่ต่างๆ ลด ละ เลิกพนัน จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการเห็นถึงเงินเล่นพนันที่เสียไป หันมาจดบัญชีครัวเรือน ทำให้ทราบว่าทิศทางรายจ่ายของครอบครัวมีมากกว่ารายรับ จึงทำให้ครอบครัวหันมาลดรายจ่าย
“ลอตเตอรี่ศึกษา มุ่งเน้นทำให้เกิดการรู้เท่าทันใน 3 เรื่อง 1.) เท่าทันความคิดที่ว่าเราหวังว่าสักวันตัวเลขจะเปลี่ยนชีวิตเรา 2.) รู้เท่าทันความเชื่อบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเลิกเล่นได้ เช่นเชื่อว่าความเฉียดในงวดนี้จะดลบันดาลให้เราถูกในงวดหน้า และ 3.) คือเข้าใจว่าความจริงแล้วโอกาสถูกหวยคือน้อยมาก ส่วนหลักสูตรพี่เลี้ยงการเงินรู้ทันการพนันสอนให้ทำบัญชีครัวเรือน เป็นการกระตุ้นให้เปลี่ยนพฤติกรรมยั่งยืน หลักสูตรนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานในชุมชนสามารถนำเครื่องมือสามชิ้นไปแนะนำให้ชาวบ้าน คือ การตรวจเช็กพฤติกรรมการจ่ายรายเดือน การตรวจเช็กสุขภาพการเงินรายปี การรู้จักดอกเบี้ยเงินกู้และการปิดหนี้ โดยใช้กระบวนการ Active learning” ธนากร กล่าว
แผนลด ปลดหนี้ ตำบลสุขภาวะเพชรบุรี
ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกสมาคมพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย อดีตนายก อบต. บ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในตำบลสุขภาวะ กล่าวว่า อปท. ในจังหวัดเพชรบุรี มีจำนวน 84 แห่ง ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 55 แห่ง กระจายทั้ง 8 อำเภอ คิดเป็น 65.5% ทำงานร่วมกับแผนสุขภาวะชุมชน สสส. ดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น นำผลผลิตท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า เช่น กลุ่มต้นตาลประดิษฐ์ กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากใบตาล หมู่บ้านจัดการตนเองด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และผลักดันกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้
“เพชรบุรี” กำลังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จหนทางแก้จน ลดหนี้ ที่กำลังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนทั่วไทย ภายใต้เครือข่ายท้องถิ่นเข้มแข็ง ตำบลสุขภาวะ ที่กำลังเตรียมขยายขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องระดับตำบลและชุมชนในอีก 2,000 แห่งทั่วประเทศ