สำนักงบประมาณ ชง ครม.เตรียมไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท ใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังเช็คเงินแล้วไม่เพียงพอ
จากกรณีข้อเสนอ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยเตรียมเสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ในวันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) นั้น
สำนักงบประมาณ ชง ครม. เพิ่มงบปี 67 อีก 122,000 ล้านบาท
ล่าสุด นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงบประมาณ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้ว เพื่อเตรียมบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นี้ พิจารณาเห็นชอบ
ทั้งนี้เหตุผลของการเสนอเรื่องนี้เข้ามายังครม. เป็นผลมาจาก ตามมติครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ครม.ได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หารือร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
โดยส่วนหนึ่งจะมีการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท เช่น การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรืองบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หรือ การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น
นายเฉลิมพล ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันกับกระทรวงการคลังแล้ว โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของงบประมาณปี 2567 ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการออกมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 แต่ด้วยระยะเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณมีไม่มาก ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว
ดังนั้นหากสำนักงบประมาณเลือกแนวทางการออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ปี 2567 อาจทำให้ทุกหน่วยงานหยุดชะงักลงการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงได้
อีกประเด็นสำคัญคือ การออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณ จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ในที่ประชุมจังเห็นตรงกันว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณสามารถเดินต่อแบบไม่มีการสะดุด จึงสมควรให้จัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ในโอกาสแรกก่อน
“จริง ๆ แล้วการออกพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการที่รัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณปี 2567 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้น GDP ได้อีกทางหนึ่ง ถ้าเป็นแบบเดิมอาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดลงได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการทำในลักษณะนี้ รวมไปถึงพ.ร.บ.โอนงบประมาณด้วย ซึ่งการทำทั้งหมดก็อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายงบประมาณ” ผอ.สำนักงบฯ ระบุ
รายงานข่าวระบุว่า ในหลักการของการขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 ครั้งนี้ เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้นมีวงเงินไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรืองบกลางปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณก้อนนี้จะตั้งไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำไปแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
หากพิจารณาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เดิมตั้งไว้จำนวน 3,480,000 ล้านบาท โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท จะทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,602,000 ล้านบาท
Comment