พาณิชย์ งัด 2 มาตรการรับมือราคาสินค้าพุ่ง เหตุปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท สั่งจับตาราคาเสื้อผ้าขยับ
วันนี้ (17 พ.ค.2567) นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า 10-15 % หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนต.ค.2567 ว่า ต้องรอผลสรุปเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงของกระทรวงแรงงานก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงยังไม่มีสินค้ารายการใดปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคใน 8หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการช่วยตรึงราคา
ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทำให้สินค้าปรับราคา
ทั้งนี้หากมีการปรับขึ้นค่าแรง กรมฯได้เตรียมมีมาตรการดูแลราคาสินค้าและบริการไว้แล้ว 2 มาตรการ คือ มาตรการทางการบริหาร ด้วยการเชื่อมโยงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาพิเศษจากผู้ผลิตไปจำหน่ายให้กับประชาชน ผ่านโครงการร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าโมบายธงฟ้า รวมไปถึงการงานธงฟ้าราคาประหยัดในพื้นที่ โดยเน้นพื้นที่ในจังหวัดเมืองรอง
และมาตรการทางกฎหมาย ซึ่ง รมว.พาณิชย์ กำชับว่าการพิจารณาเรื่องราคาสินค้าให้ใช้หลักของความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค 2ฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ การปรับราคาจะต้องพิจารณาต้นทุนเป็นรายการ และเป็นกลุ่มสินค้า
ขณะนี้กรมฯยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ยืนยันว่ายังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบก่อน และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าซึ่งใช้แรงงานคนในการผลิต
ส่วนกรณีร้านอาหาร และภัตคารที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นนั้น เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขั้นสูงอาจจะกระทบไม่มาก รวมทั้งกรมการค้าภายในก็มีโครงการจำหน่ายสำเร็จรูป ในราคาพิเศษในบริเวณศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อยู่แล้ว
นายวัฒนศักย์ กล่าวอีกว่า สำหรับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งค่าขนส่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า ยังมีต้นทุนในส่วนอื่นๆอีกที่จะต้องมีการพิจารณา ซึ่งก็มีทั้งปรับเพิ่มขึ้น และปรับลดลง