เงินดิจิทัล 10000 บาท สัปดาห์หน้ารู้ผล ซื้อโทรศัพท์มือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้าได้หรือเปล่า
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ การประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณาประเด็นการกำหนดสินค้าที่ไม่ร่วมรายการ (Negative List) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า (Import Content) ว่ามีเกณฑ์กำหนดอย่างไร ส่วนสินค้านำเข้า 100% อย่างน้ำมัน ได้ตัดออกจากสินค้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้ว เพราะไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิต ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพ หรือโครงสร้างที่ใกล้เคียงกันที่จะรวบรวมพร้อมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการการกำกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงสมาร์ทโฟนนำเข้าซึ่งขณะนี้ยังถือว่าเข้าร่วมโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
หลักเกณฑ์คนมีสิทธิร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ดังนี้
- อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67
- เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ทุกบัญชีรวมกัน (ยกเว้นสลากออมสิน และสลากออมสิน) นับยอดบัญชีเงินฝากแต่วันที่ 31 มี.ค. 67 ถอนเงินออกตอนนี้ไม่ทันแล้ว
- เกณฑ์รายได้วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 โดยสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 66 ซึ่งกำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 840,000 บาท
ส่วนหลักเกณฑ์การซื้อสินค้าร่วมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเดิม ยกเว้นบริการ และสินค้าต้องห้าม
- สลากกินแบ่งรัฐบาล
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยาสูบ
- กัญชา
- กระท่อม
- พืชกระท่อม
- ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
- บัตรกำนัล
- บัตรเงินสด
- ทองคำ
- เพชร
- พลอย
- อัญมณี
- น้ำมันเชื้อเพลิง
- ก๊าซธรรมชาติ
ส่วนเกณฑ์ร้านค้าขนาดเล็ก ยังคงเหมือนเดิม คือ ร้านค้าที่เป็นนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต
ช่องทางการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้จ่ายในแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ละเอียดเพื่อให้ประชาชนที่สามารถเข้ามาใช้ได้อย่างเข้าใจ ไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งยังมีการหารือเรื่องข้อมูล ตามตรวจสอบโครงการ
เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10000 บาท
- ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า