ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยปี 2565/2566 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
นับตั้งแต่สงครามความขัดแย้งเริ่มต้นปี 2565 ส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ
นี่เองทำให้หลายชาติทั่วโลกเปลี่ยนมาซื้อข้าวเป็นสินค้าทดแทน รวมถึงผู้นำเข้าบางรายที่ต้องนำเข้าข้าวมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศหันไปปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีแทน กลายเป็นอีกแรงหนุนให้ประเทศไทยของเราส่งออกได้มากขึ้น
เจาะสถานการณ์ “ข้าวไทย” ในตลาดโลก ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีพบว่า ทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 8.8 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 13.7% คิดเป็นมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 29.4%
อินเดียระงับส่งออกข้าว อานิสงส์ “ข้าวไทย” ครึ่งปีส่งออกโต 48%
ขณะ 6 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดส่งออกโดยรวมก็ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้มาจากกรณีที่ “อินเดีย” ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญ ยังคงระงับการส่งออกข้าว
ทำให้ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น ประกอบกับความต้องการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยังคงมีอยู่ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงจากภาวะเอลนีโญ
โดยปริมาณส่งออกข้าวของไทยใน 6 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 5.1 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 25.3% คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 48.1%โดยประเทศที่เป็นตลาดหลักคือ…
อันดับ 1: อินโดนีเซีย มีสัดส่วน 20.5%
อันดับ 2: อิรัก (9.9%)
อันดับ 3: สหรัฐฯ (7.9%)
อันดับ 4: แอฟริกาใต้ (7.2%)
อันดับ 5: ฟิลิปปินส์ (5.7%)
โดยแรงหนุนหลักมาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวขาว ปลายข้าว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ซึ่งไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพและชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า การส่งออกข้าวตลอดทั้งปี 2567 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8.8-9 ล้านตัน เติบโต 0.5-2.5% จากปัจจัยหนุนต่างๆ เช่น
อินเดียยังคงระงับการส่งออกข้าวทุกประเภท เพื่อควบคุมราคาอาหารและสร้างความมั่นใจว่าจะมีอุปทานข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ
การบรรลุข้อตกลงซื้อขายข้าวระหว่างไทยและอินโดนีเซียจำนวนมาก
สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตข้าวในหลายประเทศเสียหาย ทำให้ต้องเร่งนำเข้าหรือเติมสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความต้องการข้าวและปลายข้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบของทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนธัญพืชและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีอุปทานลดลง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในระยะต่อๆ ไป อาจมีแนวโน้มปรับลดลงสู่ระดับ 7.8-8 ล้านตัน จากคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน มีแนวโน้มกลับมาได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เมื่อปัญหาด้านอุปทานเริ่มคลี่คลายลง
ด้านราคาส่งออกข้าวไทย ปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวระดับสูงจากความขาดแคลนของโลก อีกทั้งเมื่อการผลิตข้าวของไทยครึ่งปีแรกหดตัวลง -8.1% จากผลกระทบของเอลนีโญ อากาศร้อน ฝนตกลดลง สวนทางความต้องการจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูง
ทำให้ดัชนีราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นมา 10% ทั้งจากราคาข้าวขาว (+13.3%) ข้าวหอมมะลิ (+6.2%) และข้าวเหนียว (+8.5%)
แต่อย่างไรก็ตาม การหดตัวของผลผลิตกดดันให้ดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เท่านั้น เพราะเกษตรกรยังคงเผชิญต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งด้านราคาพลังงาน ปุ๋ย และแรงงาน ลดทอนความสามารถในการทำกำไร
ไม่รวมความเสียเปรียบด้านอำนาจต่อรองทางการตลาด โดยเฉพาะการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวนาที่ได้รับโอกาสจากราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก
ที่มา : วิจัยกรุงศรี
Comment