กทม.ลุยเก็บกระทง หลังประชาชนนำมาลอยในแม่น้ำ จัดเจ้าหน้าที่ 185 คน ดำเนินการ

กทม.ลุยเก็บกระทง หลังประชาชนนำมาลอยในแม่น้ำ

กทม.ลุยเก็บกระทง หลังประชาชนนำมาลอยเทศกาลลอยกระทง จัดเจ้าหน้าที่ 185 คน พร้อมอุปกรณ์เข้าดำเนินการ

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 15 พ.ย.67 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฎิบัติงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง (ฝั่งพระนครใต้สะพานพระปกเกล้า) ก่อนสำนักสิ่งแวดล้อม นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

งานเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2567 ในพื้นที่ กทม. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน มีการจัดงานเพื่อสืบสานประเพณีในพื้นที่ต่างๆ รวมมากกว่า 140 แห่ง อาทิ งานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพฯ ประจำปี 2567 ณ คลองคูเมือง คลองหลอด เขตพระนคร งานมนต์เสน่ห์ 4 ภาค ลอยกระทงบริเวณคลองเปรมประชากร ณ ลานอเนกประสงค์ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 34 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ตั้งแต่เวลา 05.00 – 24.00 น. โดยรณรงค์ขอความร่วมมือใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ งดการนำกระทงที่ทำจากขนมปังและโฟมเข้ามาลอยในสวนสาธารณะ เนื่องจากเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของบึงน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เพราะกระทงขนมปังเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บมากที่สุด เปื่อยยุ่ยง่าย บางชนิดใช้สีที่เป็นอันตรายต่อปลา

และเมื่อขนมปังจมลงสู่ก้นสระ จะทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิด และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะจากกระทง กรุงเทพมหานครชวนลอยกระทงแบบรักษ์โลกมาด้วยกัน ลอยด้วยกัน 1 กลุ่ม 1 ครอบครัว 1 กระทง

ในส่วนของการจัดเก็บกระทง กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงเพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ แบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้ สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขตสำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร

ได้จัดเจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 185 คน เรือเก็บขยะจำนวน 40 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำประกอบด้วย เรือไฟเบอร์กลาส 34 ลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถทั้งหมด 13 คัน ประกอบด้วย รถตรวจการณ์จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน

กระทงที่จัดเก็บได้ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลำเลียงขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ โดยจะแยกเป็น กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ นำไปบดย่อย และนำส่งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น โฟม จะนำไปฝังกลบ

ในส่วนของกระทงที่จัดเก็บได้ในพื้นที่อื่นๆ เจ้าหน้าที่จะจัดเก็บไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำสายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป ทั้งนี้ ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย.67 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พ.ย.67

Comment

แนะนำสำหรับคุณ