ผลสำรวจนิด้าโพล คนส่วนใหญ่โหวต “อิ๊งค์ แพทองธาร” เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ส่วนพรรคการเมืองที่สนับสนุนมากที่สุด คือ พรรคประชาชน รองลงมาพรรคเพื่อไทย
ผลโพลของหลายสำนักในช่วงนี้ที่ปรากฏออกมาว่าคะแนนนิยม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับ 1 แซงหน้าคนจากพรรคประชาชน สำนักข่าว พูดคุยกับ ผศ.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เชื่อ ปัจจัยสำคัญ มาจากการผลักดันนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้สำเร็จ
ผศ.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) มองว่าปัจจัยหลักที่ให้คะแนนนิยมของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของบุคคลที่กลุ่มตัวอย่างสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากการสำรวจของนิด้าโพลช่วงวันที่ 16-23 ก.ย. คือความสำเร็จในการผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน10,000 บาทให้กับกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง
เพราะคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จากกลุ่มคนภาคอีสาน และที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องผลักดันเฟสสองต่อแน่ ซึ่งก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาอีก แต่อาจจะไม่ก้าวกระโดดเหมือนกับกลุ่มเปราะบางก็ได้ เพราะจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีวิธีคิดอีกแบบ
นอกจากนี้ ต้องติดตามว่าจะรักษาคะแนนนิยมในระยะยาวได้หรือไม่ เพราะเงิน 10,000 บาท คนใช้ไม่เกิน 3 เดือนก็หมด ขึ้นอยู่กับว่าพรรคเพื่อไทยจากผลักดันนโยบายอะไรต่อเนื่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนอันดับ 2 ที่มีร้อยละ 23.5 ตอบว่า “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้” ซึ่งคะแนนเพิ่มมาจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาราวร้อยละ 3 ส่วนนี้ ผศ.สุวิชา มองว่า ส่วนหนึ่งคนที่เคยอยู่กลุ่มนี้อาจเปลี่ยนใจไปสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ที่คะแนนเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่อีกส่วนก็อาจจะมาจากส่วนที่เคยสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญพรรค อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่พอเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชนโดยการนำของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ฐานคะแนนนิยมบางส่วนของนายพิธา ไม่ได้ตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นการบ้านของพรรคประชาชน และ นายณัฐพงษ์หลังจากนี้ ว่าจะเรียกกระแสคืนมาอย่างไร
ส่วนการเลือกตั้งในปี 2570 ผศ.สุวิชา ประเมินว่า คงจะมีเพียง 2 พรรคหลักๆ ที่แข่งกันเรื่องกระแส คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งจะมีผลต่อการชิงที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากกว่าในการสร้างผลงานเพื่อช่วงชิงกระแส เพราะเป็นพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตาม บางพรรคที่มี “ทรัพยากรทางการเมือง” อยู่ เช่น มีบ้านใหญ่ การคัดเลือกผู้สมัครระดับ “ครีม” ของแต่ละจังหวัดอย่างพรรคภูมิใจไทย หรือพลังประชารัฐ ก็จะไม่สนใจกระแส และอาศัยทรัพยากรทางการเมืองของตัวเองในการช่วงชิงที่นั่ง สส.เขต
ผศ.สุวิชา ประเมินอีกว่า หากพรรค 2 ฝั่งจับมือกัน ใช้ทั้งกระแสและทรัพยากรทางการเมือง แบบเดียวกับการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ก็มีโอกาสช่วงชิงพื้นที่ที่ใช้กระแสเพียงอย่างเดียวสู้ไม่ได้ เพราะกระแสจะใช้ได้ก็เพียงกับ สส.บัญชีรายชื่อ และตามพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองจังหวัดใหญ่ต่างๆ
Comment